ขั้นตอน รีโนเวทบ้าน ให้กลับมาเหมือนบ้านใหม่อีกครั้ง

บ้านหลังเก่าที่เราอยู่อาศัยมาหลายสิบปี ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทั้งสภาพบ้านที่ทรุดโทรมลง ประกอบกับความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่บ้านมือสองในเมืองที่หลายคนเลือกอยู่อาศัยแทนการซื้อบ้านหลังใหม่ตามชานเมือง ซึ่งแน่นอนว่าต้องทำการ รีโนเวทบ้านหลังเก่าที่ว่าให้ตรงกับความต้องการใหม่ของเรา ทั้งนี้เจ้าของบ้านสามารถอาศัยแนวทางการ รีโนเวทบ้าน 6 ขั้นตอนต่อไปนี้ในการเตรียมตัวก่อนลงมือ
1. กำหนดวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงบ้าน เพื่อใช้ในการประเมินงบประมาณเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็น
– ปรับปรุงบ้านทั้งหลัง เนื่องจากสภาพเก่าทรุดโทรมมาก หรือมีความเสียหายหลายส่วน
– จัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยใหม่ให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เช่น การกั้นห้องโฮมเธียเตอร์ในพื้นที่ห้องนั่งเล่น
– ซ่อมแซมบางส่วนที่เสียหาย โดยอาจถือโอกาสปรับปรุงสภาพให้ดียิ่งขึ้น เช่น ห้องน้ำรั่วเนื่องจากระบบท่อมีปัญหา จึงปรับโฉมห้องน้ำใหม่ทั้งห้อง หรือพื้นดาดฟ้ารั่ว จึงปรับเป็นสวนดาดฟ้าสำหรับพักผ่อน
– ปรับปรุงใหม่ให้ใช้งานดีขึ้น ถึงแม้ไม่ได้มีอะไรเสียหาย แต่ปรับเพื่อแก้ปัญหาการใช้งาน เช่น เพิ่มแผงกันแดดที่หน้าต่างห้องทำงานซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่แดดส่องร้อนแรงหรือติดตั้งระบบผนังฉนวนกันเสียงและเปลี่ยนหน้าต่างชุดใหม่ในห้องนอนซึ่งมีเสียงรบกวนจากถนนใหญ่ที่มีรถวิ่งผ่าน
– ปรับโฉมใหม่ตามสไตล์ที่ชอบ เช่น แต่งห้องใหม่ให้เป็นสไตล์ลอฟท์โดยการฉาบผนังใหม่ให้เป็นปูนเปลือยแบบดิบๆ ด้วยสกิมโค้ทและรื้อฝ้าเพดานออกเพื่อโชว์ท่องานระบบต่างๆ

2. รวบรวมข้อมูลและรูปแบบที่ชอบ การตกแต่งห้องหรือพื้นที่ที่ประทับใจ รวมถึงวัสดุที่ใช้ ซึ่งอาจพบเห็นได้จากสื่อต่างๆ หรือสถานที่จริง ตลอดจนวิธีการในการปรับปรุงซ่อมแซมแต่ละส่วน ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง หรือเป็นข้อมูลในการออกแบบของสถาปนิกหรือมัณฑนากร และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ

3. ตรวจสอบสภาพพื้นที่และกำหนดแนวทางในการรีโนเวทบ้าน ควรตรวจสอบส่วนต่างๆ ของบ้าน หรือพื้นที่ที่กำลังจะปรับปรุงว่ามีส่วนใดยังใช้งานได้ดี หรือมีส่วนใดที่เสียหายต้องซ่อมแซมทั้งก่อนและขณะลงมือปรับปรุงบ้าน โดยการทำ Check List ในแต่ละห้องหรือแต่ละพื้นที่ตามประเภทงานต่างๆ แบ่งเป็น งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม (วัสดุตกแต่งและปิดผิว) พื้นที่รอบบ้าน งานระบบไฟฟ้า งานระบบประปาและสุขาภิบาล รวมถึงระบบปรับอากาศ (ถ้ามี) ตลอดจนกำหนดแนวทางในการปรับปรุง รีโนเวทบ้าน แก้ไขที่เหมาะสมในแต่ละงาน โดยอาจปรึกษาวิศวกร สถาปนิก หรือผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม

4. สรุปเนื้องานที่ต้องการปรับปรุง
โดยพิจารณางานปรับปรุงซ่อมแซมต่างๆ จาก Check List ที่ทำไว้ และสรุปเนื้องานที่ต้องการปรับปรุงตามวัตถุประสงค์ เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ตั้งไว้

5. จัดเตรียมงบประมาณในการปรับปรุงบ้าน แบ่งได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 ค่าออกแบบโดยสถาปนิก มัณฑนากร วิศวกรโครงสร้าง และวิศวกรงานระบบต่างๆ
ส่วนที่ 2 ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง ได้แก่ ค่าวัสดุและค่าแรงก่อสร้าง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าดำเนินการต่าง ๆ ระหว่างการก่อสร้าง
ส่วนที่ 3 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่าโกดังเก็บของ ค่าเช่าบ้านอยู่ชั่วคราว ค่าดำเนินการขออนุญาตปรับปรุงบ้านกับหน่วยงานราชการ (สำหรับกรณีที่จำเป็นต้องยื่นขออนุญาต) ค่าบริการที่ปรึกษางานก่อสร้าง ฯลฯ

ทั้งนี้อาจใช้งบประมาณเพียงบางส่วนจากทั้ง 3 ส่วนที่กล่าวมา ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณงาน และขอบเขตในการปรับปรุงบ้าน นอกจากนี้ควรเผื่องบประมาณที่อาจจะบานปลายไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม หากมีงบประมาณจำกัด ควรวางแผนลำดับความสำคัญในการปรับปรุงบ้านเป็นส่วนๆ ตามช่วงเวลาต่างๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับงบประมาณในการปรับปรุง